ปวดคอ เมื่อยคอ เกิดจากอะไร? วิธีลดอาการปวดคอด้วยตนเอง
เคยไหม? จู่ๆ ก็มีอาการปวดคอแบบไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด บางครั้งปล่อยทิ้งไว้ก็สามารถหายเองได้ แต่บางครั้งถึงแม้จะบรรเทาด้วยวิธีการต่างๆ แล้ว ก็ยังไม่หายสักที หรือในบางรายมีอาการแบบเป็นๆหายๆ เรื้อรังยาวนานอยู่อย่างนั้น แล้วแบบนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการที่เราเป็นอยู่อันตรายรึเปล่า?
ปวดคอ (Neck Pain)
ปวดคอ (Neck Pain) เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยทำงานที่มีโอกาสพบเจอได้มากที่สุด เนื่องจากมีการใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับการทำงาน ทำให้ร่างกายต้องทำงานหนักและอยู่กับท่าเดิมๆ เป็นเวลานาน ส่งผลให้โรคออฟฟิศซินโดรม นิ้วล็อค เอ็นข้อมืออักเสบ เป็นโรคหลักยอดฮิตที่เจอได้ในกลุ่มคนเหล่านี้
อาการปวดคอ จะมีหลายระดับความรุนแรง โดยทั่วไป อาจรู้สึกได้ว่ากล้ามเนื้อคอตึง ปวดคอไม่หาย บางรายเมื่อระดับความรุนแรงของโรคมากขึ้น ก็จะมีเรื่องของการปวดร้าวต้นคอ ปวดคอ ขยับไม่ได้ กล้ามเนื้อคออักเสบ กล้ามเนื้อกระตุกหรือตึงตัว รวมไปจนถึงอาการรุนแรงอย่างการปวดกระดูกต้นคอ เป็นต้น
นอกจากนี้ หากอาการดังกล่าวยังไม่ชัดเจน คุณสามารถสังเกตเพิ่มเติมจากการเคลื่อนไหวหรือขยับศีรษะว่า มีความยากลำบากหรือแตกต่างออกไปจากปกติหรือไม่
อาการปวดคอเกิดจากสาเหตุอะไร
อาการปวดคอหรือเมื่อยคอ สามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลักที่พบได้บ่อย มีดังนี้
1. อิริยาบถที่ไม่เหมาะสม
อิริยาบถที่ไม่เหมาะสม หมายถึง การที่เรามีพฤติกรรมหรือลักษณะท่าทางการนั่ง ยืน เดิน นอน ที่ไม่ถูกต้อง เมื่อทำเป็นระยะเวลานาน ก็จะทำให้ร่างกายส่งสัญญาณบ่งชี้ด้วยอาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปวดกล้ามเนื้อคอ คอเคล็ด ไม่สามารถขยับได้ตามปกติ
โดยพฤติกรรมเสี่ยงที่พบได้ในคนส่วนใหญ่ ได้แก่…
สถานที่ทำงานไม่เหมาะสม เช่น การที่ระดับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ทำงานไม่สัมพันธ์กัน
การใช้งานคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์เป็นระยะเวลานาน
การที่มีลักษณะท่าทางที่ก้มหน้าหรือเงยหน้ามากจนเกินไป
ท่าทางการนอนไม่เหมาะสม หรือหมอนสูงเกินไป ไม่สัมพันธ์กับสรีระร่างกาย
พฤติกรรมชอบสะพายกระเป๋าที่มีน้ำหนักมากจนเกินไป
2. เครียดสะสม
หลายๆ คน อาจไม่คาดคิดว่า การที่เรามีความเครียดสะสม ก็อาจส่งผลให้เกิดการปวดคอหรือปวดบริเวณท้ายทอยได้ เพราะความเครียด จะทำให้กล้ามเนื้อต่างๆ เกิดการหดเกร็งเป็นระยะเวลานาน เมื่อไม่มีการคลายตัวลง ก็จะส่งผลให้อาการปวดคอยังคงอยู่ และในบางรายที่มีลักษณะงานหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ตึงเครียดเป็นประจำ ก็อาจทำให้เกิดเป็นอาการปวดก้านคอเรื้อรัง รักษาได้ยากขึ้น เป็นต้น
3. พักผ่อนไม่เพียงพอ
การพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้เกิดการปวดคอได้เช่นกัน เนื่องจากการนอน เป็นการดูแลระบบต่างๆ ภายในร่างกายให้เกิดความสมดุล มีการซ่อมแซมฟื้นฟูตนเองเกิดขึ้นในหลายๆ จุด รวมไปจนถึงเรื่องของฮอร์โมนและสารเคมีภายในร่างกาย
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ร่างกายได้รับผลกระทบหนักมาก เมื่อมีการนอนพักผ่อนไม่เพียงพอเกิดขึ้น เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้ปวดคอเรื้อรังหรือปวดเมื่อยตามตัวเท่านั้น แต่อาจมีทั้งเรื่องของการเกิดโรค อารมณ์แปรปรวน และระบบภายในทำงานรวนได้อีกด้วย
4. กล้ามเนื้ออักเสบ
กล้ามเนื้ออักเสบเกี่ยวข้องกับการปวดคออย่างไร? ภาวะกล้ามเนื้อคออักเสบ อาจทำให้บุคคลนั้น เกิดอาการปวดตึงบริเวณคอหรือต้นคอ ไม่สามารถเคลื่อนไหวคอได้สะดวก หรือมีอาการลามไปยังศีรษะ ไหล่ และหลังได้
5. กระดูกต้นคอเสื่อม
กระดูกต้นคอเสื่อม เป็นสาเหตุที่มักพบได้บ่อยในกลุ่มวัยผู้สูงอายุ เนื่องจากอายุมากขึ้น จะทำให้ข้อต่อหรือกระดูกต่างๆ เกิดการเสื่อมและบางลง เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงส่งผลให้ผู้สูงอายุมีอาการปวดคอเรื้อรัง ไม่หายไปเสียที
นอกจากเรื่องของกระดูกต้นคอเสื่อม ก็ยังมีเรื่องกระดูกคออักเสบที่คล้ายคลึงกัน โดยหากผู้ที่มีประวัติเป็นโรคที่เกี่ยวกับข้ออักเสบ เช่น โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบ หรือโรครูมาตอยด์ ก็จะมีโอกาสที่จะเกิดกล้ามเนื้อคออักเสบเรื้อรัง หรือชาตามแขนขาได้เช่นกัน
6. เคยบาดเจ็บบริเวณกระดูกคอ
การบาดเจ็บหรือได้รับอุบัติเหตุบริเวณกระดูกคอ เป็นการที่อวัยวะส่วนนั้นต้องเคลื่อนไหวแบบผิดทิศทางหรือท่าทางไม่เหมาะสมในระยะเวลาที่รวดเร็ว ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการคอเคล็ด การฉีกขาดของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่อยู่ภายใน รวมไปจนถึงเรื่องของกระดูกคอเคลื่อนจากจุดที่เหมาะสมหรือกระดูกคอหักได้