ความเป็นมาของวันผู้สูงอายุแห่งชาติ 13 เมษายนของทุกปี
ประเทศไทยประกาศให้มีวันผู้สูงอายุแห่งชาติ
ก่อนสหประชาชาติกำหนดวันผู้สูงอายุสากล
"ดอกลำดวน" สัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ
"ดอกลำดวน" เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ เนื่องจากต้นลำดวนเป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุยืน
เปรียบเสมือนกับผู้สูงอายุที่เป็นที่พึ่งให้ความร่มเย็นแก่ลูกหลาน ดอกมีกลิ่นหอม กลีบดอกแข็งไม่ร่วงง่าย
เปรียบได้กับผู้ทรงคุณธรรมพร้อมไปด้วยวัยวุฒิ คุณวุฒิ และความดีงามเป็นแบบอย่างการประพฤติให้แก่ลูกหลาน
อีกทั้งสีเหลือง น้ำตาลของดอกลำดวนยังให้ความรู้สึกถึงความอบอุ่น และไออุ่นของบุพการีด้วย
ประวัติและความเป็นมาของวันผู้สูงอายุ
คณะกรรมการอำนวยการวันอนามัยโลกของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีมติให้ใช้ คำขวัญเป็นภาษาไทย ว่า " ให้ความรัก พิทักษ์อนามัย ผู้สูงวัยอายุยืน " ในขณะที่องค์การอนามัยโลกกำหนดคำขวัญภาษาอังกฤษว่า Add life to years ในปี พ.ศ.2525 ซึ่งถือว่าเป็นปีรณรงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งทางองค์การสหประชาชาติได้จัดประชุมสมัชชาโลกเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรเลีย และได้ให้ความหมายของคำว่า " ผู้สูงอายุ " ว่า ผู้สูงอายุ หมายถึง บุคคลทั้งเพศชายและเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป และได้พิจารณาประเด็นสำคัญเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ไว้ 3 ประการ คือ ด้านมนุษยธรรม ด้านการศึกษา และด้านการพัฒนา
ส่วนในประเทศไทยที่สมัยรัฐบาลในสมัย พล.เอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ เพราะเห็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น และคิดว่าจะทำอย่างไร จึงจะให้ลูกหลานได้กลับมารวมตัวกันในวันสำคัญเช่นนี้ ทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุ เพราะนอกจากเป็นวันสงกรานต์ หรือปีใหม่ไทยแล้ว ยังถือเป็นเสมือนวันรวมญาติ ซึ่งรัฐบาลเองก็มองเห็นความสำคัญ และความสอดคล้องกัน ทำให้กำหนดวันสงกรานต์นี้ เป็นวันผู้สูงอายุด้วยและได้เลือก "ดอกลำดวน" เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ
ส่วนที่เลือกดอกลำดวน นั้น เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่ให้ความร่มเย็น ลำต้นมีอายุยืน มีใบเขียวตลอดปี ให้ร่มเงาดีและดอกมีสีนวล กลิ่นหอม กลีบแข็งไม่ร่วงง่าย เหมือนกับผู้ทรงวัยวุฒิ ที่คงคุณธรรมความดีงามไว้ให้เป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานตลอดไป และต้นลำดวนเป็นพืชยืนต้นที่มีอยู่มากในสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประการสำคัญ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงดำริให้จัดสวนนี้ขึ้น เพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้สูงอายุอีกด้วย
แม้จะเป็นวัยที่หลายคนนิยามว่าเป็น "ไม้ใกล้ฝั่ง" แต่ "ผู้สูงอายุ" ทั้งหลายคือผู้สร้างประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองมาแล้วนับไม่ถ้วน หรืออย่างน้อยๆ ก็เป็นหนึ่งในผู้มีพระคุณของครอบครัวที่ไม่ควรจะละเลย ยังนับเป็นประชากรที่มีสัดส่วนมาก ทั่วโลกจึงพากันรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ด้วยการกำหนด "วันผู้สูงอายุ" ขึ้นเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้บรรดาลูกหลานทั้งหลายหันมอง และเอาใจใส่ผู้สูงอายุที่เป็นคนใกล้ตัว
กิจกรรมวันผู้สูงอายุ
วันผู้สูงอายุ ถูกผูกรวมไว้กับวันขึ้นปีใหม่ไทย หรือวันสงกรานต์ ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ทำให้ลูกหลานที่จากบ้านไปเป็นปีๆ เพื่อทำงาน แล้วก็จะกลับมารวมกันอีกครั้งในวันสงกรานต์ ทำให้เป็นกลายเป็นครอบครัวใหญ่ที่มาอยู่กันพร้อมหน้า แบะมีกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันนั่นเอง
ทำบุญตักบาตร ในช่วงเช้าตามวิถีชาวพุทธ จะมีการทำบุญตักบาตร ที่ถือเป็นกิจกรรมสำคัญอันดับต้นๆ ของวันสงกรานต์ และวันผู้สูงอายุ ซึ่งตอนเช้าหลายๆบ้าน จะพาผู้สูงอายุไปวัด เพื่อทำพิธีสงฆ์ รวมถึงถวายภัตตาหาร และปัจจัย รับน้ำพระพุทธมนต์
มอบโล่ และเกียรติบัตร มอบโล่และเกียรติบัตรให้แก่ ครอบครัวของผู้สูงอายุที่เป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม หรือทำกิจกรรมที่สร้างความตระหนักถึงคุณค่า และความสำคัญของสังคม มอบรางวัลแด่ผู้สูงอายุดีเด่น และผู้ดูแลผู้สูงอายุที่เป็นจิตอาสาดีเด่นด้วย
พิธีรดน้ำดำหัว ส่วนใหญ่ตามเทศบาลต่างๆ ที่จัดงานวันผู้สูงอายุ จะจัดเป็นพิธีการขึ้น มีแขกผู้มีเกียรติ และชาวบ้าน รวมถึงข้าราชการมาร่วมกัน รดน้ำ ดำหัว ขอพร ผู้แทนผู้สูงอายุก็คือการรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้หลักผู้ใหญ่ที่นับถือนั่นเอง
ชมการแสดงของผู้สูงอายุ บางแห่งอาจมีการแสดงของชมรมผู้สูงอายุ หรืออาจจะมีการแสดงของ ลูกหลาน ที่จัดควบคู่ในวันสงกรานต์ไปเลย เพื่อให้ในวันผู้สูงอายุ เป็นไปอย่างสมบูรณ์ และทำให้วัยชราเหล่านั้นมีความสุข
สัมมนาและจัดนิทรรศการ ชมนิทรรศการของชมรมผู้สูงอายุ แต่ละอำเภอ รวมถึงเวทีสมัชชาผู้สูงอายุ และแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็น/นำเสนอ,สรุปผลการประชุม ซึ่งจะเป็นบางสถานที่ ที่มีบทบาทต่อทาราชการ เพราะกลุ่มผู้สูงวัยบางอำเภอ อาจจะมีความสามารถ ทำให้มีการจัดงานขึ้นมา เพื่อให้ผู้สูงอายุเหล่านั้นได้แสดงออกทางความคิดด้วย
นอกจากนี้กิจกรรมรดน้ำดำหัวและ ขอพรจากผู้สูงอายุตามหมู่บ้าน และชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ แล้ว วันผู้สูงอายุยังได้รับของขวัญจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะมีการให้สิทธิพิเศษในการใช้บริการ โดยอาจมีความร่วมมือจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือขสมก. ให้บริการผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ฟรีตลอดวัน ทั้งของ ขสมก. และรถเอกชนร่วมบริการ ทุกเส้นทาง โดยแสดงบัตรประชาชน รวมถึงรถไฟฟ้า BTS ให้บริการฟรีผู้สูงอายุช่วงสงกรานต์ 13-15 เมษายน เพียงแสดงบัตรประชาชนแก่พนักงาน ซึ่งในแต่ละปีอาจจะไม่เหมือนกัน
ข้อควรปฏิบัติในการดูแลผู้สูงอายุ
ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้ วันที่ 13 เมษายน ของทุกปีเป็น "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ" เพื่อรณรงค์ให้สังคมตระหนักในคุณค่าของผู้สูงอายุ การเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ และได้เห็นถึงความสำคัญและใส่ใจดูแลผู้สูงอายุให้มากขึ้น เนื่องจาก "ผู้สูงอายุ" จะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย สมอง อารมณ์ และสังคม ดังนั้น หากบุตรหลานและผู้ใกล้ชิดเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และเอาใจใส่ดูแลให้มากขึ้น ก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุปรับตัวเข้าสู่วัยสูงอายุได้อย่างมีความสุข
ดูแลเรื่องอาหาร ในวัยผู้สูงอายุจะความต้องการพลังงานลดลง แต่ความต้องการสารอาหารต่าง ๆ ยังใกล้เคียงกับวัยผู้ใหญ่ การดูแลเรื่องอาหารใน ผู้สูงอายุควรลดอาหารประเภทไขมัน และประเภทคาร์โบไฮเดรต ควรเป็นเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย พวกปลาจะดีที่สุด ผู้สูงอายุกินไข่ขาวได้ไม่จำกัด แต่ควรกินไข่แดงไม่เกิน 3 ฟองต่อสัปดาห์ กินผักมาก ๆ ทั้งผักที่ใช้ใบ หัว และถั่วต่าง ๆ ผลไม้ควรเลือก กล้วยสุก มะม่วงสุก ลำไย การใส่ใจสุขภาพและอาหารต่อผู้สูงอายุ จะต่ออายุให้ยืนยาวขึ้น ดีกว่ากินของที่ไม่มีประโยชน์
ออกกำลังกาย หมั่นให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายประมาณสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง เพื่อให้ร่างกายมีความคล่องตัว แข็งแรงซึ่งจะทำให้การทรงตัวไม่หกล้มง่าย และการเคลื่อนไหวดีขึ้น
ดูแลอนามัย พยายามให้ผู้สูงอายุ ลด ละ เลิก สิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น บุหรี่ เหล้า และพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ รวมทั้งสังเกตการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย การขับถ่าย เป็นต้น และควรได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่อายุประมาณ 65 ปี เป็นต้นไป รวมถึงให้ความสนใจการขับถ่ายของผู้สูงอายุด้วยว่ามีปัญหาหรือไม่ บางรายอาจจะเกิดปัญหาถ่ายยาก ถ่ายลำบากอีกส่วนหนึ่งอาจมีปัญหาเรื่องกลั้นการขับถ่ายไม่ได้ ซึ่งแต่ละปัญหาจะต้องให้การดูแลแก้ไขไปตามสาเหตุ
ครอบครัวอบอุ่น เน้นให้อยู่ในสถานที่ ๆ มีสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่เหมาะสม และที่เน้นทางด้านความรู้สึกนึกคิด และจิตใจของผู้สูงอายุ เพื่อช่วยให้การมีชีวิตอยู่แต่ละวันมีความสุข มีความรื่นรมย์กับการมีชีวิตอยู่ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี อาจให้ผู้สูงอายุมีงานอดิเรกที่น่าสนใจ แต่ไม่ควรเป็นสิ่งที่เป็นภาระมากนัก และการมีเพื่อนรุ่นเดียวกัน หรือต่างรุ่น จะทำให้มีความอบอุ่น และรู้สึกถึงคุณค่าของตน
เป็นหลักการเบื้องต้น ในการดูแลผู้สูงอายุ จะต้องปรับการดูแลให้เหมาะสม ต้องให้ท่านเหล่านั้นสามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง โดยพึ่งพาผู้อื่นน้อยที่สุด และมีความสุขกายสบายใจในบั้นปลายของชีวิต ดังคำที่ว่า "เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของลูกหลาน" ต่อไป
แนวทางการส่งเสริมกิตกรรมวันผู้สูงอายุ
เพราะปัจจุบัน มีผู้สูงวัยถูกทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยวเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ลูกหลานก็มี แต่มักจะถูกทิ้ง เหตุเพราะต้องออกไปทำงานต่างถิ่นบ้าง แยกไปมีครอบครัวบ้าง ทำให้ผู้สูงวัยเหล่านั้น แม้จะมีลูกหลานแต่ก็ถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพังคนเดียว หรือสองคน ซ้ำร้ายไปกว่านั้น หากลูกหลานไม่ส่งเงินมาให้ด้วยแล้ว คำว่าปากกัดตีนถีบเพื่อความอยู่รอดไปวันๆ จึงได้เกิดขึ้นกับวัยชราผู้น่าสงสารเหล่านั้นอีกครั้ง ทำให้ทางการได้จัดตั้งศูนย์ผู้สูงอายุขึ้นมา เพื่อจุดประสงค์หลายๆอย่าง รวมถึงการส่งเสริมแนวทางกิจกรรมวันผู้สูงอายุเพื่อให้เห็นความสำคัญของคนวัยชรา และเป็นกำลังใจต่อไปด้วย
ให้ลูกหลานได้กลับมาเยี่ยมผู้สูงอายุ การที่รัฐบาลได้จัดงานวันผู้สูงอายุขึ้นมา เพื่อที่จะให้ลูกหลาน ได้ตระหนัก ถึงความสำคัญ ของผู้สูงวัย ที่อาจจะต้องโดดเดี่ยวมานานเป็นปี การได้เห็นหน้าลูกหลานกลับมารวมกันในวันผู้สูงอายุ โดยมีวันหยุดยาว หรือตรงกับวันสำคัญเช่นนี้ ถือว่า จะได้เป็นการส่งเสริม กิจกรรมดีๆ ที่จะทำให้ลูกหลานได้ร่วมประเพณีไทยๆ กับผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน
จัดกิจกรรมรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ การที่รัฐบาลกำหนดให้วันที่13 เมษายน เป็นวัน ผู้สูงอายุ นั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะอย่างไร พี่น้องชาวไทย ลูกๆ หลานๆ ที่ไปทำงานต่างถิ่น จะได้กลับมาบ้าน แบบพร้อมหน้าพร้อมตาครอบครัว ซึ่วนอกจากจะเป็นวันสงกรานต์แล้ว ยังเป็นวันผู้สูงอายุอีกด้วย ซึ่งตามต่างจังหวัด จะมีพิธี รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ และจัดงาน
มอบเงินสำหรับผู้สูงอายุ มอบเงินวันผู้สูงอายุ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่แต่ละอำเภอ ตำบล ได้จัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้น เพราะเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ซึ่งอาจจะมีพิธีมอบประกาศเกียรติคุณ ผู้สูงอายุดีเด่น หรือ ผู้สูงอายุที่ทำประโยชน์ให้กับชุมชนหรือสังคม ซึ่งการมอบเงินรางวัล หรือโล่ พร้อมเกียรติบัตร ก็เพื่อสร้างแรงใจ ให้กับผู้สูงอายุ คนอื่นๆ ได้ปฏิบัติตาม หรือทำดีเพื่อประโยชน์ส่วนรวมนั่นเอง
มอบของให้กับผู้สูงอายุ การมอบสิ่งของ หรือถุงยังชีพ หรือ ยารักษาโรค หรือสิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานของผู้สูงอายุ ที่ทางเทศบาล จะเป็นผู้จัดการหา โดยอาจจะมีสปอนเซอร์สนับสนุน เพื่อให้ผู้สูงอายุเหล่านั้น ได้รู้สึกว่าแม้ลูกหลานจะทิ้ง แต่หน่วยงานก็ยังเข้ามาดูแล ถึงแม้จะไม่เต็มที่ก็ตาม
บางครั้ง สิ่งของหรือเงิน อาจจะไม่ใช่จุดประสงค์หลัก ที่ผู้สูงอายุต้องการ หากแต่คำพูด หรือการเอาใจใส่ ดูแล ซึ่งแม้จะอยู่ห่างไกล แต่ก็ควรจะมีการสื่อสารไปทักทายบ้าง เพื่อให้ผู้สูงอายุเหล่านั้นจะได้รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ถูกลูกหลานทอดทิ้งหรืออยู่อย่างโดดเดี่ยว