โรคมือ เท้า ปาก ในเด็ก

โรค มือ เท้า ปาก เป็นโรคหนึ่งที่ต้องมีการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดและยังเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากกลุ่ม เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของคน ทั้งทารกและเด็กเล็กมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ได้ง่ายและรุนแรงมากกว่าเด็กโต ในประเทศไทยมักพบในสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสทางน้ำลาย น้ำมูก อุจจาระ และน้ำในตุ่มพองของผู้ป่วย โดยเข้าทางปากโดยตรง หรืออาจติดมากับมือ ของเล่น ไอ จาม รวมไปถึงการใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารร่วมกัน

อาการโรค มือ เท้า ปาก  เด็กๆ ที่เป็นโรคมือเท้าปาก มักจะมีอาการ

• มีไข้ อ่อนเพลียและ มีแผลในปาก

• ผื่นเป็นจุดแดงขึ้นที่มือ เท้า (อาจมีผื่นตามลำตัว แขนและขาร่วมด้วย)

เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย จะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 3-7 วัน ผู้ป่วยจึงจะแสดงอาการอาการเริ่มต้น คือ มีไข้สูงถึง 38-39 องศาเซลเซียสเป็นอาการนำก่อน และจากนั้นจึงจะมีอาการอื่น ๆ ตามมาภายใน 1-2 วัน ได้แก่ การเจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย และจะเริ่มมีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนัง บริเวณฝ่ามือ  ฝ่าเท้า และบริเวณปากทั้งภายนอกและภายใน

วิธีการรักษา และการป้องกัน โดยปกติแล้ว อาการโรค มือ เท้า ปาก จะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ โดยแพทย์จะดูแลรักษาตามอาการ เช่น การให้รับประทานยาแก้ไข้ ในรายที่เพลียมากแพทย์อาจให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับให้ยาลดไข้แก้ปวด ยารักษาแผลในปาก และให้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่จำเป็น ร่วมกับการเฝ้าระวังสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

อย่างที่ทราบกันว่าโรคมือ เท้า ปาก ติดต่อได้ผ่านการรับเชื้อไวรัสจากทางเดินอาหาร น้ำมูก น้ำลาย และจากการหายใจเอาเชื้อที่แพร่จากผู้ป่วยเข้าไป คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลสุขอนามัยให้กับเด็กๆ

  • สอนวิธีการล้างมือที่ถูกต้อง ให้เด็กๆ ล้างมือให้สะอาด ด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์

  • ไม่พาเด็กไปในสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น ห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโรค

  • ทำความสะอาดของเล่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ

  • ดูแลความสะอาดของน้ำดื่มและอาหาร

  • หากเด็กที่ป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรหยุดเรียน และพักรักษาให้หายป่วยเสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ไปแพร่เชื้อยังเด็กคนอื่นๆ และผู้ปกครองต้องรีบแจ้งให้ทางโรงเรียนทราบ และที่สำคัญต้องหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลาน หากพบว่ามีอาการผิดปกติ ควรพาเด็กมาพบแพทย์โดยเร็ว

  • สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน

Previous
Previous

บริการเฝ้าไข้ คืออะไร?

Next
Next

หลังค่อม (Kyphosis)